
ประเพณีบูชาอินทขิล
TRADITIONAL WORSHIP INTHAKIN


ประเพณีเข้าอินทขิล คือ การทำพิธีสักการบูชาเสาหลักเมืองเสาอินทขิล นอกจากจะเป็นเสาหลักเมือ’แล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และยังเป็นที่สักการบูชา ถือว่าเป็นที่รวมของวิญญาณของคนเมืองเหนือและบรรพบุรุษ
ชาวเชียงใหม่มีความเชื่อว่า เมื่อสักการบูชาเสาอินทขิลแล้ว บ้านเมืองจะพ้นภัยพิบัติและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเป็นประเพณีสักการบูชามาตราบกระทั่งทุกวันนี้
สำหรับกำหนดงานพิธีบูชาเสาอินทขิลนี้ จะมีในช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน ของทุกปี ในวันประกอบพิธี พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ และเด็ก ๆ จะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำขมิ้นส้มป่อย ใส่พานหรือภาชนะใส่ของที่เรียกว่า “สลุง” เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือสลุงไป “ทำการสระสรง” (สรงน้ำ) สักการบูชา ที่วัดเจดีย์หลวง
ในระหว่างการ “บูชาเสาอินทขิล” ชาวบ้านจะจัดให้มี ซอพื้นเมืองและมีช่างฟ้อนประเภท ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ เพื่อเป็นการสังเวยเทพยดาอารักษ์ “ผีเสื้อบ้าน” และ “ผีเสื้อเมือง”
การใส่ขันดอกไม้บูชาเสาอินทขิลนี้มีถึง 28 พานใหญ่ นับว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ และยังมีขันดอกไม้บูชาท้าวทั้งสี่ คือ ท้าวจตุโลกบาลอีก 1 ที่ บูชารอบ ๆ เสาอินทขิล 8 แห่ง บูชาพระฤาษี 1 แห่ง บูชาตาปะขาวลั้วะ 1 แห่ง บูชาต้นไม้ยาง 1 แห่ง กุมภัณฑ์ 2 ตน ตนละแห่ง บูชาพระสังกัจจาย 2 แห่ง บูชาพระธาตุเจดีย์หลวง 1 แห่ง เสร็จจากใส่บาตรดอกไม้และบูชาดังกล่าวแล้ว ก็ไปสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า เพื่อขอบันดาลให้ฝนตกตลอดฤดู และบูชาพระอัฎฐารสภายในพระวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนและครอบครัว